Pages

Sunday, June 14, 2020

คอลัมน์การเมือง - ท่าข้าวกำนันทรง ตลาดกลางข้าวเปลือกแห่งแรกดีที่สุดของไทย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

jengkolpasar.blogspot.com

เมื่อปี 2519 ขณะผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย STANFORD สหรัฐอเมริกา เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเก็บข้อมูลและเรียนรู้ความเป็นไปของตลาดข้าว ได้รับทราบจากชาวนครสวรรค์ว่า

“ไม่ลองไปดูหรือ ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรง อ.พยุหะคีรี เขามีการซื้อขายข้าว ขนข้าวลงเรือกันมาก”


ผมตรงไปที่ท่าข้าวกำนันทรงทันที พบกำนันทรงองค์ชัยวัฒนะ ได้เห็นตลาดกลางซื้อขายข้าวเปลือก พบลานจอดรถขนาดใหญ่มีข้าวเปลือกกองอยู่ในลานและบางส่วนก็อยู่ในโรงเก็บ เมื่อมองลงไปริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพบเรือเอี้ยมจุ๊นสำหรับบรรทุกข้าว ริมตลิ่งมีร้านกาแฟ ขายอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่คนงานกำลังขนข้าวจากลานข้าวทยอยนำลงเรือเอี้ยมจุ๊น

กำนันทรง องค์ชัยวัฒนะ เจ้าของตลาดกลางที่ชาวบ้าน
เรียกกันว่า “ท่าข้าว” สันนิษฐานว่าที่เรียกว่า “ท่าข้าว” เพราะตั้งอยู่ตีนท่าริมเจ้าพระยา ท่าแห่งนี้ใช้ขนถ่ายข้าวล่องเรือลงใต้ กำนันเป็นเจ้าของที่ดินริมตลิ่งที่ได้พัฒนาเป็นตลาดกลางข้าวเปลือกแห่งแรกและดีที่สุดแห่งเดียวในประเทศไทย

ผมได้เรียนรู้จากกำนันทรงถึงการก่อเกิดท่าข้าว ว่าทำไมตลาดกลางข้าวแห่งนี้จึงค้าขายในเวลากลางคืน ข้าวเปลือกที่มี
ผู้ใส่รถบรรทุกนำมาขายมาจากที่ไหน ผู้ซื้อเป็นใครและจะนำข้าวเปลือกไปไหน ทั้งผู้ซื้อผู้ขายกำหนดราคากันอย่างไร และกำนันทรงเจ้าของตลาดกลางบริหารจัดการอย่างไรจึงพัฒนา รุ่งเรือง

1. ทำไม “ท่าข้าว” ตลาดกลางซื้อขายข้าวเปลือก จึงเกิดที่ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์?

ตอบ เพราะแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ทั้ง 4 สายไหลลงมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.ปากน้ำโพธิ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ แล้วไหลลงทางทิศใต้ผ่านกรุงเทพมหานคร ลงอ่าวไทยที่สมุทรปราการ

การเดินเรือขนส่งข้าวในแม่น้ำเจ้าพระยา จะเริ่มจากจุดเหนือสุดในบริเวณ อ.พยุหะคีรี ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของ ต.ปากน้ำโพธิ์
ประมาณ 27 กม. เพราะส่วนเหนือขึ้นไปแม่น้ำจะมีเกาะแก่งและบางช่วงสูงชันไม่เหมาะกับการเดินเรือสินค้า

ข้าวเปลือกเพาะปลูกมากในภาคกลาง และบางส่วนปลูกในภาคเหนือจนถึง จ.เชียงราย แต่โรงสีขนาดใหญ่ที่สีข้าวเพื่อส่งออกจะอยู่บริเวณริมแม่น้ำในภาคกลางใกล้กรุงเทพมหานคร

โรงสีขนาดใหญ่เหล่านี้ ต้องการข้าวจำนวนมาก นอกจากได้ข้าวในพื้นที่มาสีแล้ว กำลังการผลิตเหลือที่ต้องการข้าวเปลือกจากภาคเหนือขนลงมาสีข้าวอีกด้วย

ข้าวจึงถูกขนส่งทางรถบรรทุกจากพื้นที่ในภาคเหนือ ขนลงทิศใต้มาเปลี่ยนถ่ายลงเรือที่ อ.พยุหะคีรี เพราะเรือสามารถขนส่งได้ถูกกว่า จึงเป็นการประหยัดค่าขนส่ง

โรงสีขนาดใหญ่ในภาคกลาง ก็เลยเอาเรือเอี้ยมจุ๊นขนข้าวไปรอรับข้าวเปลือกที่ท่าข้าวใน อ.พยุหะคีรี

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าของข้าวเปลือก (พ่อค้าข้าวเปลือก) ที่ขนข้าวเปลือกมาทางรถจากภาคเหนือ เพื่อมาขนถ่ายจากรถลงเรือที่ริมตลิ่ง จึงเกิดท่าข้าวกำนันทรง และท่าข้าวอื่นๆ ขึ้น ในบริเวณ อ.พยุหะคีรี แต่ของกำนันทรงดูจะพัฒนาเป็นที่นิยมมากที่สุด

2. ทำไมตลาดกลาง (ท่าข้าวกำนันทรง) จึงซื้อขายข้าวเปลือกในเวลากลางคืน?

ตอบ ก็เพราะพ่อค้าข้าวเปลือกในภาคเหนือจะต้องซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในเวลากลางวัน เมื่อขนข้าวเปลือกขึ้นรถบรรทุกก็จะวิ่งรถลงทางทิศใต้ มาถึง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ก็เป็นเวลาหัวค่ำ ตั้งแต่ 2-3 ทุ่มถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง

โรงสีข้าวและพ่อค้าข้าวเปลือกจากภาคกลาง (ผู้ซื้อ) ก็จะรอบริเวณลานของท่าข้าว เพื่อจะได้แย่งกันซื้อขายข้าวตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงดึกดื่น ท่าข้าวกำนันทรง จึงต้องเปิดไฟสว่างไสวในยามค่ำคืน

3. วิธีการซื้อ-ขายในตลาดกลางแห่งนี้ทำกันอย่างไร?

ตอบ เมื่อรถบรรทุกข้าววิ่งเข้ามา ผู้ซื้อข้าวจะกรูกันเข้าไปที่รถต่างเอามือไปกำข้าวเปลือกจำนวนหนึ่ง เป็นการสุ่มตัวอย่างเพื่อนำเอามาดูลักษณะข้าว พันธุ์ข้าว คุณภาพข้าว นำเอาข้าวเปลือกสักหนึ่งกำมือมาใส่กระดานแล้วนำไม้กลมๆ ที่เตรียมไว้สำหรับบดข้าว (กะเทาะข้าวเปลือก) เพื่อจะได้ดูเมล็ดในของข้าว (ข้าวสาร) ดูความแข็งแกร่ง เปอร์เซ็นต์การแตกหักของเมล็ดข้าวเมื่อถูกบดเท่ากับดูคุณภาพของข้าวสารที่จะได้รับจากการสีข้าว ดูความชื้นที่อยู่ในเมล็ดข้าว ผู้ซื้อ
บางคนใช้ฟันขบกัดเพื่อสำรวจดูความแกร่งของข้าว

หลังจากนั้น การประมูลราคาจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เจ้าของข้าวเปลือกผู้นำมาขายจะเป็นคนเริ่มก่อนว่าพอใจจะขายในราคาเท่าไร? ผู้ซื้อก็จะเริ่มต่อรองให้ราคา ซึ่งแน่นอนเป็นราคาที่ต่ำกว่า เมื่อคนนี้ให้ราคาเท่านี้ คนอื่นๆ ก็ให้ราคาสูงขึ้นและสูงขึ้น จนผู้ขายตกลงใจที่จะขาย

จึงเลื่อนรถบรรทุกข้าวไปชั่งน้ำหนักข้าว และนำไปขนข้าวเปลือกลง เทกองข้าวเปลือกด้วยคนงานที่มารับจ้างที่ท่าข้าว

ผู้ขายจะไปรับเงินสดจากท่าข้าวที่จ่ายให้ในนามของผู้ซื้อ ผู้ขายจะได้เดินทางกลับไปซื้อข้าวในภาคเหนือได้ในวันต่อไป
(ผู้ขายต้องได้เงินสดเพื่อนำไปประกอบธุรกิจในวันรุ่งขึ้น ขณะนั้นยังไม่มีการโอนเงินทางอินเตอร์เนตที่ง่ายดายเหมือนในปัจจุบัน ท่าข้าวจึงต้องเป็นผู้เอื้ออำนวยจ่ายเงินไปก่อนเพื่อให้การซื้อขายข้าวดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว)

4. กำนันทรง เข้าไปประมูลซื้อข้าวเปลือกกับเขาด้วยหรือไม่ ?

ตอบ “ผมไม่เข้าไปประมูลแข่งหรือซื้อข้าวกับเขาด้วยหรอก”

“เพราะถ้าเราเข้าไปซื้อข้าวด้วย ใครเขาจะมาซื้อแข่งกับเรา เขาเห็นว่าเราอยู่กับตลาด รู้ข้อมูล รู้ความเป็นไปของราคาและคุณภาพดีกว่าเขา เขาก็จะเสียเปรียบ แล้วใครเขาจะมาค้าขายท่าข้าวของเรา”

“เมื่อคนซื้อ คนขายมีจำนวนน้อย ตลาดก็เติบโตไม่ได้”

เป็นคำตอบที่ลึกซึ้ง ที่กำนันทรง องค์ชัยวัฒนะ แสดงหลักการไว้อย่างสำคัญและดำเนินการอย่างถูกต้องที่สุด

5. แล้วกำนันทรงได้รายได้จากอะไร ?

ตอบ ท่าข้าวหรือตลาดกลาง ก็มีรายได้จากค่าตอบแทนในบริการที่ให้แก่ผู้ซื้อผู้ขาย เมื่อต้องการจะชั่งน้ำหนักข้าวก็มีบริการให้ เมื่อต้องการขนข้าวลงจากรถหรือเมื่อต้องการจะขนขึ้นเรือเอี้ยมจุ๊นก็มีบริการให้ เมื่อต้องการให้ท่าข้าวจ่ายเงินให้ผู้รับทันทีที่ขายข้าวได้ก็มีบริการเครดิตให้ อยากจะกินข้าว กินก๋วยเตี๋ยว กินกาแฟ ก็มีบริการให้

นอกจากนี้ ยังมีบริการประเภทที่ไม่คิดเงิน ก็คือการมีกระดานบอกข่าวสารข้อมูล ในเรื่องราคา “หั่งเช้ง” ที่ได้รับรู้จากการโทรศัพท์ตรวจสอบจาก “หยง” หรือตัวแทนผู้ส่งออกข้าว

ยังจำได้ว่าในสมัยนั้น แม้กิจการตลาดกลางจะใหญ่โตมีเงินหมุนเวียนคืนหนึ่งมากมาย แต่มีโทรศัพท์ที่ใช้จำนวนน้อยมาก เพราะเบอร์โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์นั้นหายากแสนเข็ญ (ต่างกับสมัยนี้ที่ทุกคนมีโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบอินเตอร์เนต)

6. ค้นพบความสามารถของกำนันทรง องค์ชัยวัฒนะ แล้วทำอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ต่อไป?

ตอบ ในปี 2519 / 2520 ผมก็เริ่มเผยแพร่ให้สังคมดีรับรู้ว่าตลาดกลางข้าวเปลือกที่ใหญ่ที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด บริหารงานด้วยหลักการที่เหมาะสมที่สุดของกำนันทรง ในงานเขียนทั้งงานวิจัย บทความ การบรรยาย และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

กำนันทรง และท่าข้าวกำนันทรง จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผมจะพานักศึกษา นักวิชาการ ไปศึกษาเรียนรู้จาก “อาจารย์ทรง องค์ชัยวัฒนะ” ที่ให้ความรู้แก่ทุกคนอย่างตั้งใจ กำนันทรงไม่เคยแสดงอาการเบื่อหน่าย นักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า นักวิจัยสื่อมวลชนคณะแล้วคณะเล่ารวมถึงกลุ่มบุคคลต่างๆจึงได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากตลาดกลางข้าวเปลือกแห่งนี้

ผู้ที่เข้าไปศึกษาเรียนรู้ก็ควรจะได้คำตอบว่า

(1) ตลาดกลางข้าวเปลือก ต้องเกิดในตำแหน่งของพื้นที่ที่เหมาะสม จึงเป็นการลดต้นทุนให้ผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ตลาดกลางจะต้องมีการขนถ่ายสินค้า ขนขึ้น-ขนลง กระบวนการแลกเปลี่ยนต่างมีต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

ถ้าตำแหน่งของพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือปัจจัยของเศรษฐกิจอื่นเช่นสถานที่ตั้งของโรงสีและสภาพการเพาะปลูกข้าวไม่สอดคล้องเหมาะสมที่จะมาซื้อขายเปลี่ยนมือ เพื่อประหยัดต้นทุนในภาพรวม ตลาดกลางก็เกิดขึ้นไม่ได้

(2) หน่วยงานราชการและหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความปรารถนาดีอยากเห็นตลาดกลางเกิดขึ้นมากๆ หรือเกิดขึ้นทุกจังหวัด จึงเป็นความปรารถนาดีบนความไม่รู้ เพราะไปบังคับส่งเสริมให้ผู้ซื้อผู้ขายมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องมาหยุดซื้อขายแลกเปลี่ยนขนสินค้าขึ้น ขนสินค้าลงในจุดที่ไม่ควรเกิด ในที่สุดตลาดกลางแห่งนั้นก็จะสูญสลายหายไป

(3) เมื่อในปัจจุบันถนนหนทางการคมมนาคมทางบกได้รับการพัฒนาอย่างมาก แต่การขนส่งทางน้ำไม่ได้รับการพัฒนาและดูแลที่ดีพอ

รถบรรทุกข้าวเปลือกก็วิ่งผ่าน อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ตรงเข้าโรงสีในภาคกลางไม่ต้องแวะซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ท่าข้าวกำนันทรง

โรงสีที่เกิดขึ้นใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ริมแม่น้ำ แต่ตั้งอยู่ในที่สามารถเชื่อมต่อกับถนน

ระบบข่าวสารข้อมูลข้าว “หั่งเช้ง” ก็เผยแพร่ทางโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนต ทำให้พ่อค้าข้าวเปลือกจากภาคเหนือสามารถประสานตรง และส่งข้าวเปลือกตรงไปให้กับโรงสีข้าวในภาคกลาง ไม่จำเป็นต้องจอดแวะที่พยุหะคีรีอีกต่อไป

การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จึงเป็นอนุสติให้กับพวกเราทุกคน

กำนันทรง องค์ชัยวัฒนะ ได้ประกอบคุณความดีสร้างนวัตกรรมตลาดกลางข้าวที่ใหญ่ที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุดของไทย

และสังคมไทยก็ได้สูญเสียกำนันทรง องค์ชัยวัฒนะในวัย 87 ปี แต่ความทรงจำยังคงจารึกไม่รู้เลือน

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

Let's block ads! (Why?)


June 15, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3flu5VO

คอลัมน์การเมือง - ท่าข้าวกำนันทรง ตลาดกลางข้าวเปลือกแห่งแรกดีที่สุดของไทย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://ift.tt/3azMLPC
Home To Blog

No comments:

Post a Comment